หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
สวนเมืองบางกอก
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 25 ก.ย. 2560, 11:14 น.
เข้าชมแล้ว 15151 ครั้ง

ภาพลายเส้นวัดและบ้านสวนริมคลองที่พบได้ทั่วไปทางฝั่งธนบุรีช่วงต้นกรุงเทพฯ

 

ตั้งแต่เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ใหม่ [Young Chao Phraya Delta] เป็นต้นมา การตั้งถิ่นฐานของชุมชนต่างๆ ตั้งแต่ลัดเกร็ดน้อย ลัดเมืองนนทบุรี จนถึงลัดเมืองบางกอกมักอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณนี้เต็มไปด้วยพื้นที่เรือกสวนมากกว่าพื้นที่ทำนา การทำสวนผลไม้ซึ่งต้องอาศัยภูมิปัญญาสะสมในการตั้งข้อสังเกตพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่เหมาะสมกับกระแสน้ำขึ้นน้ำลงและผืนดินที่ต้องอาศัย “ระบบน้ำแบบลักจืดลักเค็ม” หมายถึง อาศัยระบบนิเวศแบบน้ำกร่อยและน้ำจืดที่ต้องพอดีกันเพื่อให้พืชพันธุ์ ได้ปุ๋ยจากตะกอนน้ำพัดพาโดยธรรมชาติและน้ำกร่อยที่ดันเข้ามาจากชายฝั่งทะเล อันเป็นระบบนิเวศธรรมชาติที่ผู้คนสามารถปรับตัวได้และนำมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตอยู่อาศัยมาตลอดโดยไม่จำเป็นต้องสร้างทำนบหรือเขื่อนกั้นระบบนิเวศแบบผสมผสานนี้ดังเช่นในปัจจุบัน ที่เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

 

ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เต็มไปด้วยเรือกสวนผลไม้ที่อยู่ตามลำคลองสายต่างๆ เรียงขนานแยกจากแนวลำน้ำสายใหญ่ในแนวตะวันตก-ตะวันออก เมื่อลึกเข้าไปตามลำน้ำจากสวนผลไม้ก็เปลี่ยนเป็นไร่นาปลูกข้าว โดยแบ่งพื้นที่กันอย่างชัดเจน โดยทางตะวันออกของพื้นที่เป็นดินตะกอนชุดธนบุรี ซึ่งเป็นดินที่เหมาะแก่การทำสวนทำไร่ ส่วนด้านตะวันตกเป็นดินชุดบางเลนและบางกอก ซึ่งเหมาะแก่การทำนามีการขุดคลองและคลองธรรมชาติ เป็นเครือข่ายหนาแน่นทำให้เคยเป็นเขตเพาะปลูกที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ

               

อย่างไรก็ตาม รัฐไม่มีนโยบายควบคุมการใช้พื้นที่เฉพาะที่เหมาะสมจนทำให้พื้นที่สวนและนากลายเป็นเมืองอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา การตัดถนนหนทางสายต่างๆ รุกเข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยชั้นดี หมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่และหรูหราเกิดขึ้นมากมาย บริเวณนี้จึงกลายเป็นแหล่งที่พักอาศัยและเปลี่ยนจากที่นาที่สวน ซึ่งมีธรรมชาติของดินอันอุดมสมบูรณ์ไปอย่างสิ้นเชิง

               

การพรรณนาถึงสภาพภูมิศาสตร์และภูมิวัฒนธรรมของคนสยามในเอกสารของชาวตะวันตกที่เข้ามาเนื่องจากเจริญสัมพันธไมตรีและเพื่อการค้า เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นภาพลายเส้นที่วาดอย่างละเอียดและพรรณนาตามวิชาธรรมชาติวิทยา อธิบายลักษณะของต้นไม้และผลไม้เมืองร้อน เช่น ต้นหมาก กล้วย ขนุน มะพร้าว มะม่วง สับปะรด เงาะ ฯลฯ ในประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยามที่ปรากฏในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดย ตุรแปง บันทึกไว้กล่าวถึง ของสวน ซึ่งเป็นผลไม้อันหลากหลายมากชนิดทั้งกล่าวด้วยว่า ผลไม้ชนิดเลิศที่คน สยามชอบมากที่สุดคือ ทุเรียน และนับว่าคงเป็นที่นิยมกันมาจนถึงทุกวันนี้อย่างแน่นอนว่า

               

พลู หมาก มะพร้าว ส้ม (มีราว ๓๐ ชนิด แต่ส้มแก้วรสดีที่สุดเป็นส้มผลโตและมีจุกเปลือกเขียว) ทุเรียน (คนสยามชอบผลไม้นี้มาก เหลือก็เอามาทำทุเรียนกวน) ขนุน มังคุด เงาะ มะม่วงหิมพานต์ มะเดื่อ น้อยหน่า น้อยโหน่ง ฝรั่ง มะละกอ กล้วย มะขาม พริกไทย อ้อย สับปะรด มะม่วง

               

ข้อสังเกตจากการผจญภัยของเฟอร์ดินัน เมนเดซ ปิน โต ที่เดินทางเข้ามาสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยากล่าวชื่นชมผลไม้ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาว่าผลไม้และพืชผักคุณภาพดีกว่าผลไม้ที่เบงกอลมาก นอกจากนั้นก็มีมังคุดและทุเรียน ซึ่งมีรสชวนรับประทานยิ่งนัก ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของผลไม้ต้องเริ่มจากเมษายนถึงปลายเดือนกรกฎาคม มีส้มผลงามรสดีมากมายที่บรรจุในตะกร้าใบเล็ก มีลิ้นจี่ แต่พืชผักของสยามนั้นดูจะมีคุณภาพด้อยกว่าผลไม้ และไม่ได้รับการดูแลบำรุงเท่าที่ควร และอาหารนั้นชาวจีนเป็นผู้นำในการผลิต เช่น เลี้ยงหมู เป็ด ไก่

               

ในช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๘๓-๒๓๘๔ นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่เดินทางเข้าไปภายในคลองสายในตาม สวนฝั่งธนบุรีที่สามารถเดินทางไปออกท่าจีน-แม่กลองและเพชรบุรีได้ ก็พบว่าสองฝั่งคลองแน่นขนัดไปด้วยเรือกสวนพรรณไม้นานาชนิด ที่เขียวขจีและหอมหวน อันแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่รอบๆ กรุงเทพฯ ที่มีผลไม้รสเยี่ยมและมีหลากชนิด ดังบันทึกของนักเดินทางชาวอังกฤษ เฟรเดอริก อาร์เธอร์ นีล ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๓-๒๓๘๔

               

“เมื่อเรามาถึงคุ้งที่สองในแม่น้ำนั้น สองฝั่งแม่น้ำก็มีแต่สวนหมากเต็มไปหมด มีกลิ่นหอมหวานของดอกไม้ตลบ ขณะที่เราผ่านมาตามลำน้ำนับเป็นไมล์”

          

และคณะทูตจากอังกฤษที่เข้ามาในช่วงต้นกรุงเทพฯ และ เซอร์จอห์น ครอฟอร์ด และตามลำดับว่า

               

“ผลไม้ของสยามหรืออย่างน้อยก็โดยบริเวณรอบๆ กรุงเทพฯ เป็นเยี่ยมและมีหลากชนิด”

               

สมัยก่อนมีคำกล่าวถึงสวนใน-สวนนอก “สวนใน” หมายถึง สวนตามลำน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่นนทบุรี ธนบุรีหรือบางกอก ลงไปจนพระประแดง ส่วน “สวนนอก” หมายถึง สวนตามลำน้ำแม่กลอง เช่น ที่บางช้าง (สมุทรสงคราม) โดยมีคำเรียกให้คล้องจองกันว่า “บางช้างสวนนอกบางกอกสวนใน” หรือ “สวนในบางกอก สวนนอกบางช้าง”

               

“สวนในบางกอก” ผู้คนทั้งในท้องถิ่นยังแบ่งเรียกกันเป็น “บางบน” กับ “บางล่าง” ซึ่ง “บางบน” เป็นชื่อเรียกเรือกสวนกลุ่ม ที่อยู่ในคลองบางกอกน้อยหรือจากปากคลองบางกอกน้อยขึ้นไป ซึ่งอยู่ตอนบนหรือทางทิศเหนือของลำน้ำเจ้าพระยา ไม้ผลที่มีชื่อเสียงของบางบน ได้แก่ ทุเรียน เงาะ กระท้อน มังคุด ละมุด ส่วน “บางล่าง” เป็นชื่อเรียกเรือกสวนกลุ่มที่อยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ลงไปทางราษฎร์บูรณะหรือแถบดาวคะนองต่อบางขุนเทียน หรือซึ่งเป็นทางใต้ของลำน้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำไม้ผลที่มีชื่อเสียงของบางล่าง ได้แก่ ลิ้นจี่ ส้มเขียวหวาน ทุเรียน ส้มโอ หมากพลู กล้วย หอมทอง

               

สวนฝั่งธนฯ เป็นพื้นที่สีเขียวที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นมรดกทางธรรมชาติที่ยั่งยืนของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโดยทั่วไป สวนเก่าแก่ดั้งเดิมในฝั่งธนบุรีเป็นสวนผสมทั้งสิ้นใช้ระบบการปลูกพืชที่มีความสูงต่างระดับกัน โดยคัดเลือกพืชหลากหลายชนิดที่แตกต่างกันในด้านต่างๆ มาปลูกรวมไว้ในสวนขนัดเดียวกันอันเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะคือการยกร่องและทำคันดินกั้นโดยรอบขนัด พื้นที่แต่ละ “ขนัด” จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ถือทางน้ำเป็นหลักใหญ่จึงมักจะมีด้านใดด้านหนึ่งติดคลอง รอบสวนจะมีคันดินหรือถนนล้อมรอบเขตสวนของตนซึ่งถือว่าเป็นทางเดินสาธารณะ สามารถเดินผ่านสวนทะลุไปได้ตลอด คันดินนี้ช่วยป้องกันน้ำท่วมแต่ไม่ป้องกันน้ำเค็มที่ซึมขึ้นมาจากใต้ดิน พืชที่ปลูกในแต่ละสวนแต่ละขนัดมีหลายชนิดต่างระดับกันบางสวนเลี้ยงปลาในท้องร่อง เช่น ปลานิล ปลาจีน ปลาตะเพียน ปลาแรด เพื่อช่วยกำจัดแหนและวัชพืชน้ำสร้างสมดุลทางธรรมชาติ สามารถนำมาบริโภคในครอบครัวและนำออกขายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

               

ตัวอย่างสวนทุเรียนที่บางระมาดในอดีตใช้พื้นที่อกร่องปลูกทุเรียนเป็นหลัก ริมร่องสองข้างปลูกทองหลาง ซึ่งเป็นพืชโตเร็วให้ร่มเงากับทุเรียนได้ดี และทำให้ดินเย็นชื้น ช่วยยึดดินไม่ให้ร่องพังทลาย และยังเป็นค้างให้พลูเกาะ ใบทองหลางซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่วเมื่อหล่นลงในท้องร่องเน่าสลายแล้วกลายเป็นปุ๋ยชั้นดีใต้ร่มเงาของทองหลาง ปลูกข่า ตะไคร้ บนคันล้อมสวนปลูกมะพร้าว มะม่วง กล้วย ซึ่งล้วนเป็นพืชที่ขึ้นง่ายช่วยบังลมพายุ เป็นระบบที่เกื้อกูลพืชโตช้าอย่างทุเรียน และยังใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์สูงสุด

               

ชาวสวนมีประเพณีและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการทำสวน เช่น การตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ไว้ที่สวน เมื่อเก็บผลผลิตแล้วครั้งหนึ่ง ชาวสวนจะคัดทุเรียนลูกที่ดีถวาย ๑ ลูก และบนบานศาลกล่าวให้ผลผลิตในปีต่อไปดกกว่าเดิม เป็นการหาที่พึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเสี่ยงของชาวสวนอย่างเห็นได้ชัด

 

                

ภาพลายเส้นภาพต้นไม้และผลไม้จากเอกสารของเดอ ลาลูแบร์ ที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

 

ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ตาม พื้นที่สวนผลไม้เขตฝั่งธนบุรีและนนทบุรีก็ยังมีสวนที่รุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์มากที่สุดผลไม้หลักที่ขึ้นชื่อมากที่สุดคือ ทุเรียน รองลงไปมีส้มเขียวหวานและส้มโอ มังคุด ส่วนพวกสับปะรดมักจะปลูกแซมระหว่างต้นไม้หลัก พวกละมุด มะปราง มะม่วง มะพร้าว มะนาว และกล้วย ก็มักปลูกตามคันสวน

               

เอกสารเก่าก็จะมีเรื่องเกี่ยวกับทุเรียนเขียนไว้มากมายเพราะทุเรียนเป็นเสมือนผลไม้ทิพย์ที่คนไทยนิยมรับประทานกันมากที่สุด และทุเรียนดีมักมีราคาแพงเป็นพืชที่ตลาดนิยมสามารถสร้างรายได้ดีให้แก่ชาวสวนแถวธนบุรี นนทบุรี และกรุงเทพฯ เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีก่อนปลูกทุเรียนกันมากเรียกว่า ทุเรียนสวนถือว่าเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพดีและมีราคาค่อนข้างแพงบันทึกในตำราทำสวนของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ไว้ว่า ทุเรียนบางบนในคลองบางกอกน้อยที่บาง ผักหนาม และแถบตำบลบางขุนนนท์ บางขุนศรี คลองชักพระ ตลิ่งชัน เป็นทุเรียนดีมีชื่อจำเพาะต้นนั้นพันธุ์นั้น ผลโตงามพูใหญ่สีเนื้อเหลือง แต่หยาบรสมันมากกว่าหวาน ซื้อขายกันได้ราคา... ครั้นภายหลังมา ในถิ่นบางบนนี้มีน้ำท่วมบ่อยๆ ต้นทุเรียนทนนำไม่ค่อยไหวล้มตายเสียแทบหมด ส่วนทุเรียนบางล่าง เนื้อละเอียดแต่บาง สีเหลืองอ่อนมักจะเป็นสีลาน แต่รสหวานสนิทดีกว่าบางบนคนชอบใจกินมาก

 

จากหนังสือ “พรรณพฤกษากับสัตวาภิธาน” ของพระยาศรี สุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งไว้ราว พ.ศ. ๒๔๒๗ กล่าวถึง ชื่อทุเรียนเป็นนำกลอนไว้ถึง ๖๘ พันธุ์ ต่อมามีการขยายพันธุ์และเกิดพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เคยสำรวจพันธุ์ทุเรียนที่ปลูกอยู่ทั่วไปในช่วง ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ สามารถระบุชื่อพันธุ์ได้ ๑๒๐ พันธุ์ แต่มีชื่อเสียงอยู่ในวงการค้าประมาณ ๖๐-๘๐ พันธุ์ ซึ่งโดยมากปลูกอยู่ทางฝั่งธนฯ และนนทบุรี เฉพาะในฝั่งธนฯ ที่สำรวจพบขณะนั้น และเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมีประมาณ ๔๐ พันธุ์

 

สวนทุเรียนหลายขนัดเคยล่มเมื่อครั้งนำท่วมใหญ่ พ.ศ. ๒๔๖๐ และ พ.ศ. ๒๔๘๕ มาแล้ว โดยเฉพาะในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ นำท่วมใหญ่และท่วมสูงติดต่อกันหลายเดือน สวนผลไม้ในเขตกรุงเทพฯ ธนบุรี นนทบุรี เสียหายอย่างหนักยืนต้นตายเกือบหมดสิ้น จากนั้นจึงมีการปลูกทดแทนขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะทุเรียนซึ่งแม้จะต้องเสียเวลาบำรุงรักษานับสิบปี แต่เนื่องจากเป็นไม้ผลราคาดี ชาวสวนจึงนิยมปลูกใหม่กันทั่วไป ดังนั้นจึงยังคงมีสวนทุเรียนหลงเหลืออยู่ แต่สันนิษฐานว่าหลังปี พ.ศ. ๒๔๘๕ มีผู้นำทุเรียนจากที่นี้ไปปลูกยังจันทบุรี อยู่เรื่อยๆ ต่อมาพันธุ์ดีๆ เหล่านี้ได้แพร่หลายไปในจังหวัดต่างๆ เช่น ตราด ระยอง นครนายก ปราจีนบุรี

 

ความนิยมในการบริโภคทุเรียนสมัยนั้นราว พ.ศ. ๒๕๐๐ นิยมกันที่ทุเรียนที่มีผลใหญ่ เปลือกบาง เนื้อมาก เมล็ดเล็ก ไม่ฉุน รุนแรง เนื้อสวย ไม่เปียกแฉะ ท้องตลาดนิยมสีนาก (สีเหลืองปนแดง แบบสีจำปา) รองลงไปก็เป็นสีเหลืองแก่ สีเหลือง จนกระทั่งสีลาน (คล้ายสีใบลาน) ตามลำดับ ส่วนลักษณะเนื้อนั้นนิยมเนื้อที่ละเอียดไม่มีเสี้ยน รสหวานมัน

 

ความนิยมของตลาดผู้บริโภคทุเรียนปัจจุบัน จะเห็นว่าเหลือเพียงไม่กี่พันธุ์เท่านั้น เช่น พันธุ์หมอนทอง ที่ยังขายได้ราคาดีทั้ง ในตลาดภายในและภายนอกประเทศ ส่วนพันธุ์ชะนีแม้จะยังเป็นที่นิยมทั่วไป แต่ราคาในตลาดถูกกว่าหมอนทองหลายเท่า ชาวสวนจึงหันไปปลูกหมอนทองมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนพันธุ์อื่นๆ ที่เคยเป็นที่นิยม อย่างพันธุ์ก้านยาวกลายเป็นพันธุ์หายากและมีราคาแพง ทุเรียนจากบางขุนนนท์ที่กลายเป็นแม่พันธุ์ขยายไปสร้างชื่อเสียงให้เมืองนนทบุรี นอกจากปลูกด้วยเมล็ดซึ่งใช้เวลานาน ชาวสวนทุเรียนใช้วิธีตอนกิ่ง ปลูกเพาะเมล็ดน้อยลง ก็คงเลือกเฉพาะพันธุ์ที่ดีและมีคนชอบพันธุ์เก่าๆ คงสูญหายไป

 

ในสวนแถบฝั่งธนบุรีพืชพันธุ์ที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นไม้ผลไม้ยืนต้นที่สร้างรายได้ พืชเหล่านี้ปลูกกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถจำแนกตามชนิดและพันธุ์ต่างๆ ที่สำคัญได้ ดังนี้

มะพร้าวใหญ่ (สำหรับแกง)

กระท้อน พันธุ์ทับทิม พันธุ์ล่าหรืออีล่า

มะไฟ พันธุ์ครูถิน พันธุ์ยายเพาะ พันธุ์ไข่เต่า พันธุ์ปุยนุ่น พันธุ์ตาเจือหรือเหรียญทอง พันธุ์นำตาลทราย พันธุ์ชะอม

มะม่วง พันธุ์พราหมณ์ขายเมีย พันธุ์เขียวไข่กา พันธุ์เขียว เสวย พันธุ์อกร่อง

ชมพู่ พันธุ์สีนาก พันธุ์มะเหมี่ยว พันธุ์แขกดำพันธุ์นำดอกไม้ พันธุ์แก้มแหม่ม

ทุเรียน พันธุ์กบแม่เฒ่า พันธุ์ตาขำพันธุ์ชะนี พันธุ์ขั้วสั้น พันธุ์ก้านยาว พันธุ์กะเทย

ละมุด พันธุ์สีดา พันธุ์ไข่ห่าน พันธุ์มะกอก

ส้ม พันธุ์เขียวหวาน พันธุ์ส้มจี๊ด พันธุ์ส้มโอ

กล้วย กล้วยนำหว้า กล้วยไข่ กล้วยหอมทอง กล้วยตานี กล้วยนาก

 

ผลไม้ดารดาษจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา

 

รวมทั้งหมาก มะปราง ขนุน มะกรูด มะนาว เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีพืชไม้ป่าทั้งชนิดยืนต้นและชนิดเลื้อยที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ชำมะเลียง มะกอกนำจิกนำตะลิงปลิง มะหวด มะขวิด มะตาด ไทร บอระเพ็ด ฟักข้าว ไผ่ต่างๆ

 

นอกจากนี้ยังมีคนจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในฝั่งธนบุรียึดอาชีพทำสวน เริ่มแรกเข้ามาถือสวนจากชาวสวนไทยแต่คนจีนมักปลูกพืช ที่ขายได้กำไรหรือเป็นพืชเศรษฐกิจตามสมัยนิยม สวนของคนจีนจึงมีทั้งสวนหมาก สวนพลู และสวนผักที่ชาวจีนนิยมปลูกกันพวกหัวไชเท้า ผักกาด พร้อมกับเลี้ยงหมูควบคู่ไปด้วย

 

ดังเห็นได้จากบันทึกของชาวยุโรปที่เข้ามาบางกอกในสมัยรัชกาลที่ ๓กล่าวถึงสวนของคนจีนที่อยู่ลึกเข้าไปจากแม่นำเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๙ ว่า

“มีการทำสวนกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก อาจจะพูด ไม่ได้ว่าเป็นสวนที่มีคุณภาพดีเลิศ แต่ทว่าเป็นสวนที่งอกงามดี….มีร่อง ถั่ว….ผักกาดหอม หัวไชเท้า (หัวผักกาด) ใบพลู และหมาก ซึ่งปลูกกันเป็นส่วนใหญ่ในสวน ชาวสวนอยู่อาศัยในกระต๊อบสกปรกเล็กๆ ภายในอาณาบริเวณไร่สวนของตน มีสุนัขเฝ้าสวนเป็นจำนวนมาก และมีเล้าหมูส่งกลิ่นตลบอบอวล”

 

วิธีทำสวนของคนจีนแตกต่างไปจากสวนคนไทย เพราะทำควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์ ใช้มูลสัตว์และปลาเน่าเป็นปุ๋ยชีวภาพ ช่วยทำให้พืชผักงอกงามขายได้ราคา ในยุคแรกๆ คนไทยส่วนหนึ่งก็ไม่นิยม กินผักจากสวนของคนจีนเพราะเห็นว่าสกปรก โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่ามีการนำมูลคนไปรดผักและเชื่อเช่นนั้นอยู่เป็นเวลานาน แต่ผักจากสวนของคนจีนเน้นปลูกจำนวนมากและราคาไม่แพง ด้วยความขยันอุตสาหะสวนผักของคนจีนจึงกลายเป็นพืชผักหลักในการบริโภคใน สำรับอาหารและแทนที่ผักท้องถิ่นที่ออกผลตามฤดูกาลและมีจำนวนหลากหลายกว่า

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดคลองมหาสวัสดิ์เชื่อมคลองบางกอกน้อยออกแม่นำท่าจีน สองฝั่งคลองขุดใหม่ก็เริ่มมีชาวจีนเข้ามาเช่าที่ตั้งรกรากปลูกผักขาย ทั้งคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน ฯลฯ จนบริเวณริมฝั่งคลองมหาสวัสดิ์ ด้านใต้กลายเป็นพื้นที่ยกร่องทำสวนผักของคนจีน ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนแต้จิ๋วเกือบทั้งนั้น และบริเวณนี้เรียกว่า “สวนผัก” มาจนถึง ปัจจุบันการทำสวนของคนจีนทำรายได้ดี ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ชาวจีนจำนวนหลายพันในเมืองใกล้เคียงกรุงเทพฯ ได้พากันไปรับจ้างทำสวนผักและสวนพลู กับเลี้ยงหมู ทำให้การทำสวนและเล้าหมูแพร่หลายยิ่งขึ้น

 

ในหนังสือ “ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ” ที่กล่าวถึง “เรื่องสวน” ของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) (พ.ศ. ๒๓๙๒-๒๔๖๓) เป็นอดีตอธิบดีกรมพระคลังสวน อธิบดีจัดการกรมภาษีร้อยชักสาม ที่ปัจจุบันคือกรมศุลกากร ท่านกล่าวถึงการทำสวนว่า

“เป็นสิ่งสำคัญอันสมควรที่จะให้รู้ธรรมชาติของที่แผ่นดิน อันจะได้ขุดร่องยกคันโก่นสร้างที่แผ่นดิน จะได้หว่านเพาะต้นไม้มีผล ที่เป็นต้นไม้ยืนนาน และต้นไม้ล้มลุกเพราะหว่านตามฤดูสมัยให้ได้ผลอันดีมีราคามาก และต้องยากลำบากที่จะต้องลงแรงลงทุน และเปลื้องเวลาแต่น้อย ในการประสงค์จะให้ผลดังนี้ มีการอยู่ ๔ อย่างที่ชาวสวนควรจะมีทรงไว้ ความคาดหมายประโยชน์จึงจะเป็นอันสำเร็จได้ คือว่าจะต้องมีทุนคือเงินที่จะได้ออกใช้สอยในสิ่งที่ควรต้องการ ๑ แรงหรือมือเพื่อที่จะได้ทำงานที่ต้องการ ๑ ความรู้ในทางที่ดีที่สุดแห่ง การงานที่จะทำ๑ และความฉลาดเพื่อที่จะได้บัญชาใช้ทุนและแรงที่จะต้องออกทำ๑ คุณสมบัติ ๔ อย่างนี้มีอยู่ในชาวสวนผู้ใดแล้ว ความมาดหมายที่จะให้เกิดประโยชน์ ก็คงเป็นผลสำเร็จอย่างดียิ่ง รวมเป็นสิ่งซึ่งเป็นวิชาสำหรับชาวสวนที่ควรต้องศึกษาและประพฤติไปด้วยกัน”

 

อันหมายถึงการทำสวนนั้นจำเป็นต้องใช้ทุนรอนและความ อดทนสติปัญญาในการปรับสภาพพื้นดินให้เข้ากับพืชพันธุ์ที่ต้องมีการคัดเลือกและสร้างพันธุ์ใหม่อยู่เสมอ งานทำสวนจึงเป็นงานหนักแต่น่าจะทำให้ชาวสวนนั้นเป็นกลุ่มที่มีรายได้ดีกว่าอาชีพอื่นๆ

 

หมากเคยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ชาวสวนเป็นอันมากและรัฐก็มีรายได้จากการเก็บอากร สร้างความมั่งคั่งและมั่นคงให้แก่รัฐ เช่นเดียวกับพลูซึ่งต้องเคี้ยวคู่กับหมาก ภาษี หมากจึงเข้าอยู่ในอากรสวนใหญ่ที่ปลูกโดยยกร่องสวนโดยมีพิกัด อัตราอากรอย่างเป็นหลักเกณฑ์ ครั้นภายหลังสนธิสัญญาเบาว์ริงก็ปรับปรุงเพิ่มขึ้น เช่น หมากเอก (สูง ๓-๔ วาขึ้นไป) แต่เดิมเสียอากร ต้นละ ๕๐ เบี้ย ภายหลังสนธิสัญญาขึ้นเป็น ๑๓๘ เบี้ย และหมากผาก รายออกดอกประปรายเคยเสียต้นละ ๔๐ เบี้ย ภายหลังสนธิสัญญาแล้วขึ้นเป็น ๑๒๘ เบี้ย

 

รายได้จากการเก็บภาษีของชาวสยามนั้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ภาษีอากรที่เรียกเก็บมากที่สุดคือผลิตผลการเกษตรจำพวกหมาก มะพร้าวผลไม้และพืชผักต่างๆ มากกว่าภาษีโรงเรือน ภาษีการค้า ภาษี เหล้าในทุกจังหวัดรวมกัน ภาษีการจับปลา ภาษีซุงและไม้สัก ดังที่พบว่ามีการเก็บภาษีไม้ซุงและไม้สักที่อยู่ในเขตเทือกเขาทางภาคเหนือ ซึ่งยังไม่ได้รายได้มากเท่ากับภาษีจากพืชผลไม้จากการเกษตร อาจจะเป็นเพราะไม้ซุงหรือไม้สักอยู่ในหัวเมืองห่างไกลและใช้ระบบสัมปทานโดยเจ้าผู้ครองนครกับชาวตะวันตก

 

แม่ค้าเรือพายในย่านตลิ่งชันเมื่อราว พ.ศ.๒๕๑๒

 

แม้จะอยู่ในช่วงที่ประเทศสยามในขณะนั้นก้าวเข้าสู่ความทันสมัยในการเป็นประเทศสมัยใหม่แล้วก็ตาม ภาษีจากผลิตผล การเกษตรจากหมาก มะพร้าว และผลไม้ยังเป็นอันดับต้นๆ จะเป็นรองเพียงภาษีโรงเหล้า รายได้ของรัฐจึงพึ่งพาภาษีจากสวนในและสวนนอกตลอดจนพื้นที่ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่มากกว่าพื้นที่อื่นๆ สิ่งเหล่านี้คือช่วงเวลาก่อนที่การอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ จะเข้ามาทำกิจการในสยามประเทศ

 

บันทึกจากเอกสารทั้งจดหมายเหตุของชาวต่างชาติในสมัยอยุธยาและเอกสารการเก็บอากรสวนของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ในช่วงรัชกาลที่ ๕ ทำให้เห็นความสำคัญของสวนผลไม้ในบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและสวนผลไม้แถบสมุทรสงครามว่า มีการปลูกไม้ผลที่สำคัญๆ คือ ทุเรียน มังคุด มะม่วง มะปราง ลางสาด หมาก พลูค้างทองหลาง ๗ พันธุ์นี้สามารถเก็บอากรใหญ่ บริเวณใดมีจำนวนไม้ผลชนิดนั้นมากก็เรียกว่าสวนสิ่งนั้น

 

ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๒๕ พืชเศรษฐกิจ ๗ ชนิดที่รัฐจัดเข้าอากร สวนใหญ่ คือ ทุเรียน มังคุด มะม่วง มะปราง ลางสาด หมาก และพลูค้างทองหลาง จะเสียค่าอากรสูงกว่าไม้ล้มลุกซึ่งเสียเป็นอากรสมพัตสร ที่กำนันจะเป็นผู้เดินสำรวจนับจำนวนต้นผลไม้ ซึ่งแล้วแต่จะ กำหนดว่าต้นไม้ชนิดใดเก็บเท่าใด แต่ต่อมามีปัญหาการนับต้นไม้ที่ตายไปบ้างมากและชาวสวนก็ไม่ยอมเสียอากร ต่อมารัฐได้ตราพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายรัษฎากร พ.ศ. ๒๔๘๑ ขึ้นมา จึงได้ ยกเลิกอากรสมพัตสรไป

 

ความผันแปรของการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาจนไปถึงเขื่อนภูมิพล รวมทั้งการขุดลอกสันดอนปากน้ำและนโยบายการชลประทาน แบบแยกส่วนระหว่างบริเวณที่เป็นน้ำจืดและน้ำเค็ม ทำให้รูปแบบน้ำแบบลักจืดลักเค็มด้อยไปเพราะเป็นการบิดเบือนธรรมชาติและรูปแบบ การใช้น้ำในท้องถิ่นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่ ทำให้สวนทุเรียนและสวนผลไม้ทรุดโทรมไปตามลำดับ

 

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการใช้ที่ดินและน้ำในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาและการขยายตัวของมหานคร เกิด ขึ้นจากโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เข้าสู่ความทันสมัยจนเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีผลกระทบต่อชุมชนดั้งเดิมที่เกิดขึ้นอย่างถาโถมและรุนแรงมากเสียจนการแก้ปัญหาเฉพาะส่วนเฉพาะตัวเช่นแต่ก่อนก็ไม่สามารถต้านทานได้

 

ชาวสวนชาวสยามที่เคยมีชีวิตอยู่อย่างสงบร่มเย็นในอดีต และเมืองได้เข้ามารุกไล่จนชาวสวนดั้งเดิมต้องมีชีวิตเงียบๆ ในสวน ลึกๆ ห่างจากถนนใหญ่และชาวสวนบางคน บางตระกูลก็ต้องละเลิก หายหน้าไปเนื่องจากการสร้างถนน สวนที่กลายเป็นเมืองในปัจจุบัน นอกจากจะหาทางออกเรื่องแก้ไขสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้แล้ว ยังทำได้เพียงพยุงความรู้สึกของการเป็นคนริมน้ำและใช้ชีวิตท่ามกลางต้นไม้และผืนดินไว้เท่าที่การท่องเที่ยวที่สร้างตลาดน้ำหรือตลาดบกขึ้นมาใหม่จะทำได้ ทั้งที่นาสวนผลไม้และสวนผัก ถือเป็นเพียงเรื่องราวติดที่ของอดีต ที่เคยรุ่งเรืองในการเป็นพื้นที่ซึ่งผลิต ผลไม้รสชาติดีที่สุดแห่งหนึ่ง

 

หากผู้ใดเคยไปท่องเที่ยวในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำต่างๆ ในเขตร้อน โดยเฉพาะสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนามก็พอจะมองเห็นว่าพืชผัก ผลไม้ต่างๆ ล้วนมีพันธุ์ใกล้เคียงกันแต่ต่างกันที่ รสชาติอันเนื่องมาจากความชำนาญที่สั่งสมในการคัดเลือกสายพันธุ์ และสร้างสายพันธุ์ใหม่ของชาวสวนที่ต่างกัน สิ่งเหล่านี้อาจจะเรียกว่าภูมิปัญญาก็ได้ การสั่งสมและการถ่ายทอดนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ภายในเวลาอันรวดเร็วต้องศึกษาทดลองบางทีอาจจะหลายชั่วคน

 

ชาวสวนของเราถูกบังคับโดยปริยายให้ละทิ้งสิ่งเหล่านี้ ไป และนำเอาถนนสายใหญ่ตึกรามบ้านช่องสวยสง่าใหญ่โตและ สนามหญ้าหน้าบ้านเข้ามาแทนที่ บทสรุปก็คือ เราละทิ้งมรดกที่มีค่าไว้เบื้องหลังแต่กลับถูกยัดเยียดโครงสร้างทางกายภาพและชีวิตวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่ฉาบฉวยและทำลายพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่ [Young Delta] มาแทนที่

 

ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๕ (ก.ค.-ก.ย.๒๕๖๐)

อัพเดทล่าสุด 5 ม.ค. 2561, 11:14 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.