สะพานมัฆวานรังสรรค์ บนถนนราชดำเนิน รัชกาลที่ ๕ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖
เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ – ๖ ก็มีการรื้อกำแพงเมืองและป้อมปราการอย่างที่เคยมี จนทำให้ความเป็นเมืองแต่สมัยโบราณสิ้นสุดลง เป็นยุคที่เป็นเมืองแบบตะวันตก เป็นสยามใหม่เพราะเกิดคนรุ่นใหม่ที่นิยมตะวันตกไปทั่ว [Westernization] ปัจจุบันอดีตของป้อมปราการตามแนวคลองผดุงกรุงเกษมเหลืออยู่เพียงชื่อสถานที่ตามทางถนนผ่าน เช่น ป้อมปราบศัตรูพ่ายที่กลายเป็นชื่อเขตของการบริหารของกรุงเทพมหานคร
สิ่งที่แสดงความเป็นกรุงเทพฯ แบบตะวันตกที่โดดเด่นเห็นจะได้แก่การสร้าง “ถนนราชดำเนิน” เป็นถนนหลวงที่ฝรั่งเรียกว่า “Avenue” โดยมีการเลียนแบบมาจากถนนซองเอลิเซ่ในกรุงปารีสของฝรั่งเศส เป็นถนนที่เริ่มแต่พระบรมมหาราชวังเลียบสนามหลวงมาทางเหนือเรียกว่า “ราชดำเนินใน” ข้ามสะพานผ่านพิภพลีลา ข้ามคูเมืองพระนครชั้นในมาเป็น “ถนนราชดำเนินกลาง” ที่เมื่อสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วมีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้นกลางถนน มีวงเวียนที่เป็นสี่แยกของถนนผ่านไปข้ามคลองบางลำพูใกล้ป้อมมหากาฬไปเป็น “ถนนราชดำเนินนอก” จนถึงคลองผดุงกรุงเกษม อันเป็นคูเมืองพระนครในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ไปยังพระบรมรูปทรงม้าและพระที่นั่งอนันตสมาคมที่ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วเป็นรัฐสภา
ถ้ามองในด้านสัญลักษณ์ถนนราชดำเนินนี้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชอันมีพระบรมมหาราชวังเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ [Seat of power] ไปตามถนนหลวงสู่พระที่นั่งอนันตสมาคมอันเป็นรัฐสภาที่เป็นศูนย์อำนาจการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ในขณะที่พระบรมรูปทรงม้าของรัชกาลที่ ๕ สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของเมืองเก่ากรุงเทพมหานครเข้าสู่พื้นที่ผังเมืองแบบตะวันตก [Urban area] ภายใต้การนำของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พื้นที่ทั้งสองฟากถนนราชดำเนินนอกเรียงรายด้วยสถานที่ราชการและวังเจ้านายใหญ่น้อยที่ขยายปีกไปจนถึงถนนสามเสนที่อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบของลานพระบรมรูปทรงม้า พระที่นั่งอนันตสมาคมก็เป็นพระราชวัง และสวนอัมพรเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่แปรพระราชฐานมาจากพระบรมมหาราชวัง
ที่มา : จากเพจ facebook สร้างประวัติศาสตร์สังคมย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๗