เชื่อกันว่า “เมืองเศรษฐปุระ” เป็นศูนย์กลางของบ้านเมืองขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายกว้างขวางในเขตลุ่มน้ำโขงตอนกลาง คือ “เจนละ” นักวิชาการชาวฝรั่งเศส เช่น ยอร์ช เซเดส์ วิเคราะห์ว่า เศรษฐปุระเป็นศูนย์กลางของบ้านเมืองในวัฒนธรรมเขมรก่อนเมืองพระนครเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ เรียกว่า เจนละบกและมีเจนละน้ำที่อยู่ทางตอนใต้บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
เจนละปรากฏชื่อและตำแหน่งที่ตั้งในจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์สุย (Sui Dynasty พ.ศ. ๑๑๓๒-๑๑๖๑) กล่าวถึงเมืองหลวงที่อยู่ใกล้ภูเขาซึ่งมีนามว่าลิงคปรวตา [Lingaparvata] หรือลึงคบรรพต ที่ยอดเขามีทหารเฝ้าทั้งวันทั้งคืนถวายแด่เทพเจ้าที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น “ภัทเรศวร” ปางหนึ่งของพระศิวะ ซึ่งเป็นการนับถือเทพเจ้าองค์เดียวกับพระเจ้าภววรมันแห่งอาณาจักรจามปาที่หมี่เซิน ภูเขาที่มีรูปลักษณ์เป็นแบบสวยัม-ภูลึงค์ (การเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ) ในภาคกลางของเวียดนามปัจจุบัน เช่นเดียวกับลึงคบรรพตที่ภูเก้า เมืองจำปาสัก
การพบจารึกที่เก่าแก่ที่สุดหลักหนึ่งในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ “จารึกเทวนิกา” [Devanika Stele] ซึ่งยอร์ช เซเดส์ เชื่อว่าเป็นกษัตริย์จากจามปาที่จดหมายเหตุจีนกล่าวถึงในช่วง พ.ศ. ๙๙๘-๑๐๑๕ (พุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑) ก็สอดรับกับการเป็นเมืองใหญ่ที่มีความสัมพันธ์กับบ้านเมืองขนาดใหญ่ตามชายฝั่งทะเลหลายแห่งในอาณาจักรจามปาที่รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากอินเดียในการนับถือศาสนาและสร้างศาสนสถานที่บูชาพระศิวะที่ผสมกลมกลืนกับการนับถือเทพแห่งภูเขาเช่นเดียวกันกับทางวัดพูที่เมืองเศรษฐปุระ
ในขณะเดียวกันก็พบหลักฐานบริเวณจังหวัดอุบลราชธานีและยโสธรที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นบ้านเมืองเก่าแก่แบบเจนละ เพราะพบทั้งจารึกของพระเจ้าจิตรเสน ทับหลัง และซากศาสนสถานแบบสมโบร์ไพรกุกและไพรกเมง นักวิชาการเช่น อาจารย์ธิดา สาระยา จึงให้ความเห็นเพิ่มเติมจากนักวิชาการชาวฝรั่งเศสว่า บ้านเมืองศูนย์กลางที่เป็นจุดกำเนิดของเจนละ นอกจากบริเวณเมืองเศรษฐปุระที่เชื่อว่าเป็นเมืองหลวงใหญ่ของเจนละแล้ว ก็น่าจะเชื่อมโยงถึงบริเวณอุบลราชธานีและยโสธรในประเทศไทยด้วย
และการศึกษาทางโบราณคดีของนักโบราณคดีฝรั่งเศสที่บริเวณวัดพูในระหว่าง พ.ศ.๒๕๓๓-๒๕๓๔ พบประติมากรรมมีจารึกกล่าวถึงพระเจ้ามเหนทรวรมัน ฐานของศิวลึงค์และทับหลังสมัยสมโบร์ไพรกุกซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เช่นเดียวกับทางยโสธรและอุบลราชธานี
บริเวณลุ่มน้ำโขงตอนกลางนี้เมื่อผ่านบริเวณโขงเจียมซึ่งเป็นแนวเขาทั้งสองฝั่ง และเป็นจุดบรรจบของลำน้ำมูลที่ไหลมาสบบริเวณนี้ทำให้เกิดเกาะแก่งและผาชันและเป็นจุดที่พบจารึกจิตรเสนอีกแห่งหนึ่ง แม่น้ำโขงเลี้ยวไปทางตะวันออกเลียบแนวภูเขาที่เรียกว่าภูควาย เป็นจุดเริ่มต้นของเทือกเขาพนมดงเร็ก บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเมืองปากเซ ซึ่งฝั่งตรงกันข้ามมีแนวเขาสูงใหญ่เทือกหนึ่ง มียอดเขาสำคัญอยู่ ๓ แห่งคือ ภูหลวง ภูจำปาสัก และภูเก้า ซึ่งมีรูปลักษณ์แปลกตาเพราะยอดเขามีหินตั้งขึ้นคล้ายเดือยตามธรรมชาติ จึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของคนท้องถิ่นและในศาสนาฮินดูเป็นที่สถิตของพระศิวะจึงเรียกว่าลึงคบรรพต ต่อมาคนลาวเห็นคล้ายการเกล้าผมมวยตั้งขึ้นบนศีรษะ จึงเรียกว่าภูเกล้าหรือภูเก้า ส่วนชาวบ้านเรียกว่า ภูควาย
เมืองโบราณริมแม่น้ำโขงฝั่งตะวันตกที่อยู่เหนือดอนโขง คอนพะเพ็ง และหลี่ผี เกาะแก่งใหญ่กลางแม่น้ำโขงที่เมืองโขง และถัดมาคือเมืองสตึงเตรงหรือเมืองเชียงแตงใกล้กับชายแดนกัมพูชาและเมืองธารา- บริวัตรขึ้นมาทางทิศเหนือราว ๑๐๐ กว่ากิโลเมตร
ส่วนพื้นที่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง เป็นเขตรอยต่อของที่ราบสูงบอลิเวน และที่ราบลุ่มลำน้ำเซกะมานและเซกอง ต่อเนื่องกับเขตที่สูงและเทือกเขาทางเวียดนาม เป็นอาณาบริเวณของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ยังเป็นชนเผ่าและยังไม่มีการสร้างบ้านเมืองในระดับรัฐหรืออาณาจักรแต่อย่างใด
ที่ราบเชิงเขาเป็นแนวยาวมีลำน้ำลำห้วยหลายสาย ผู้คนในสมัยโบราณจึงทำแนวคันดินดักทางน้ำทดน้ำสำหรับปลูกข้าวทำนา ยังพบร่องรอยทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเป็นแนวคันดินยาว ซึ่งก็ถูกตีความว่าเป็น “ถนนเส้นทางโบราณที่เดินทางไปยังนครวัด (แม้ว่าจะไม่มีเส้นทางที่ต่อเนื่องไปถึงเมืองพระนครแห่งนั้นก็ตาม) เพราะมีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง บ้านเมืองที่ขุดคูน้ำคันดินล้อมรอบขนาดใหญ่โตกว้างยาวราวๆ ด้านละ ๑ กิโลเมตร คือเมืองที่เรียกกันว่า “เศรษฐปุระ” ที่มีภูเขาศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้านหลัง เขาด้านหน้าที่สูงย่อมกว่าเป็นที่ตั้งของปราสาทสำคัญของท้องถิ่น คือ “ปราสาทวัดพู” ส่วนด้านหน้ากลางแม่น้ำโขงคือ ดอนแดง เกาะใหญ่กลางแม่น้ำโขงที่มีหมู่บ้านตั้งอยู่ได้หลายแห่ง ปากน้ำฝั่งตรงข้ามคือกลุ่มโบราณสถานที่เรียกว่า โตะโมะ
ในยุคต่อมายังมีการสร้างเมืองจำปาสักที่เป็นเมืองศูนย์กลางของ ราชอาณาจักรลาวใต้ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ลงมา อันเนื่องมาจากการขยายตัวของหัวเมืองจากล้านช้างลงมาทางใต้และเป็นเมืองที่แทบจะทับซ้อนกันโดยอยู่ติดชิดกับริมแม่น้ำโขง ทางฝั่งตะวันตกนี้มีพื้นที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกมากกว่าทางฝั่งตะวันออกที่ติดชิดกับที่สูงและภูเขาเมืองจำปาสักในยุคนี้ผ่านช่วงเวลาที่เป็นบ้านเมืองทางพุทธศาสนาที่มีผู้นำสำคัญคือ พระครูหลวงโพนสะเม็กหรือยาคูขี้หอม พระอริยสงฆ์สำคัญของลุ่มน้ำโขง และกลายเป็นหัวเมืองสำคัญในยุคอาณานิคมที่มีบ้านเรือนแบบอาณานิคมอยู่ไม่น้อย ต่อมาความสำคัญของเมืองเอกในแขวงจำปาสักก็เปลี่ยนไปอยู่ที่ปากน้ำเซโดนอันเป็นที่ตั้งของเมืองปากเซ
เรื่องราวของเมืองเศรษฐปุระหรือปราสาทวัดพูนี้จึงเป็นเสมือนเมืองใหญ่ที่อยู่ในเส้นทางคมนาคมโบราณ จากบ้านเมืองในเขตภายในเขตลุ่มน้ำมูลที่ต่อเนื่องไปจนถึงบ้านเมืองทางอีสานตอนใต้และภาคตะวันออกชายทะเลและไปจนจรดต่อกับเขตทุ่งกุลาร้องไห้ กลุ่มเมืองชายฝั่งทะเลในปริมณฑลของจามปาและบ้านเมืองที่อยู่เหนือขึ้นไปตามแม่น้ำโขงที่เป็นเมืองในกลุ่มแคว้นศรีโคตรบูร
หากเห็นภาพเช่นนี้แล้ว ผู้คนที่ไปเยือนวัดพูและเมืองจำปาสักก็จะเข้าใจในความยิ่งใหญ่ในความเป็นเมืองสำคัญของบ้านเมืองในลุ่มน้ำโขงตอนกลางขึ้นมาทันที เพราะนอกเหนือจาก “ปราสาทวัดพู” โบราณสถานที่สวยสง่าบนยอดดอยเหนือเมืองเศรษฐปุระที่มีภูเก้าและศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขาเป็นฉากหลัง ยังมีความหมายของบ้านเมืองโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่ง ที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์ยุคต้นของภูมิภาคนี้ให้สมบูรณ์ขึ้นได้มากกว่าการไปเที่ยวปีนป่ายปราสาทในสภาพแวดล้อมที่งดงามแต่เพียงอย่างเดียว
การทำให้กลายเป็นโบราณสถานเชิงพาณิชย์
แล้ววัดพูก็เดินสู่เส้นทางการทำโบราณสถานให้กลายเป็นสถานที่ ท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์อย่างชัดเจนเมื่อถูกประกาศให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ถือเป็นมรดกโลกแห่งที่ ๒ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต่อจากเมืองหลวงพระบาง มรดกโลกแห่งแรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘
พื้นที่โดยรอบวัดพูได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกรวมทั้งสิ้น ๓๙๐ ตารางกิโลเมตร มีการลงนามความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น อินเดีย ฝรั่งเศส และอิตาลี สนับสนุนงบประมาณบูรณะโบราณสถาน ขอความร่วมมือให้อนุรักษ์อาคารบ้านเรือนแบบเก่าตามสไตล์ฝรั่งเศสและลาว ให้มีการจำกัดสิ่งปลูกสร้างใหม่หรือห้ามมิให้มีการขุดรื้อถอนใดๆ บนพื้นที่ลึกกว่า ๕๐ เซนติเมตร พร้อมกับรณรงค์ให้ชาวบ้านรักษาขนบธรรมเนียมวิถีชีวิตดั้งเดิม
ประเทศที่ต้องการขอขึ้นทะเบียนจะต้องส่งคำขอไปยังศูนย์มรดกโลกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดย คำขอจะต้องประกอบด้วยข้อมูลแผนบริหารจัดการพื้นที่เขตแกน [Core Zone] การกำหนดพื้นที่กันชน [Buffer Zone] เพื่อกำหนดมาตรการอนุรักษ์คุ้มครองสถานที่ขอขึ้นทะเบียนและต้องแนบแผนที่กำหนดเส้นเขตแดนที่ชัดเจน ศูนย์มรดกโลกจะส่งองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก International Council on Monuments and Sites หรืออิโคโมส [ICOMOS] ซึ่งทำหน้าที่กลั่นกรองคำขอขึ้นทะเบียนไปสำรวจสถานที่และจัดทำรายงานข้อเสนอแนะเกี่ยวกับข้อมูลด้านวัฒนธรรมและเทคนิคเสนอเพื่อบรรจุในระเบียบวาระของการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก
ปัจจุบันมีสิ่งก่อสร้างทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติในกลุ่มประเทศอาเซียนได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกแล้วทั้งสิ้น ๓๓ แห่ง ใน ๗ ประเทศ ยกเว้นแต่สิงคโปร์ บรูไน และพม่า ซึ่งในกรณีของพม่านั้นมีความพยายามเสนอพุกามและอังวะเป็นมรดกโลกและเคยเสนอที่พยู่มาแล้วแต่ยังไม่ได้รับอนุมัติ เพราะการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานหลายแห่งของรัฐบาลทหารในอดีต ไม่ถูกต้องตามรูปลักษณะเดิม ซึ่งพม่าเป็นภาคีหนึ่งของที่ประชุมมรดกโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ และต้องการได้รับคัดเลือกเพื่อให้เป็นมรดกโลกอย่างยิ่ง วัตถุประสงค์ก็เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีมากขึ้น
แต่อาจจะด้วยสาเหตุจากการที่มีรัฐบาลทหารและความเข้มงวดทางการเมืองรวมทั้งการบูรณะโบราณสถานแบบพม่าที่นิยมสร้างขึ้นใหม่ตามรูปแบบเดิมในสถานที่เดิม และการใช้โบราณสถานเป็นศาสนสถานในชีวิตประจำวันอาจจะเป็นสาเหตุหลักที่ยังทำให้พม่าไม่มีมรดกโลกที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การยูเนสโกแล้วเป็นของตนเองก็ได้ แม้สิ่งก่อสร้างในอดีตของพม่าจะยิ่งใหญ่งดงามและมีชีวิตชีวามากมายกว่าโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งอื่นๆ ก็ตาม
การท่องเที่ยวถือเป็นวิธีการสร้างรายได้อย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ.๒๕๕๖ นอกเหนือจากงานประเพณีประจำปีในช่วงวันเพ็ญเดือนสามที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยววัดพูอยู่แล้ว รัฐบาลลาวจัดตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบงานบูรณะแหล่งโบราณสถานเพื่อความสมบูรณ์พร้อมในฐานะเป็นแหล่งมรดกโลกและให้เอกชนสัมปทานสร้างสีสันและการประชาสัมพันธ์ โดยการนำเอาตำนานท้องถิ่นมาจัดแสดงเป็นละครประกอบแสงสีเสียงในยามค่ำคืน โดยมีบริษัทรับเหมาจัดทำให้ทั้งหมด นำเรื่องราวความรักในยุคต่างๆ มาแสดงเรื่อง The Legend of VatPhuo
มีตลาดสินค้าพื้นเมือง อาหาร เครื่องดื่ม แข่งขันร้องเพลง รำ เพื่อ รำลึกวันประวัติศาสตร์มิตรภาพลาว-เวียดนาม และมรดกโลกวัดพู ประกวดนางสาวจำปาสัก ขายอาหารโต๊ะจีน จัดแสดงหมู่บ้านจำลองวิถีชีวิตของชาวเจนละในอดีต กิจกรรมบริการขี่ช้างพานักท่องเที่ยวโดยรอบการแสดงจาก เวียดนาม กัมพูชา และไทย
และงานแสดง แสง สี เสียง ตำนานเกี่ยวกับท้าวบาเจียง ตำนานวัดพูและการก่อตั้งอาณาจักรจำปาสัก เรื่องราวซึ่งเกี่ยวพันถึงความรักไม่สมหวังของหนึ่งหญิงสองชาย เช่น ตำนานของท้าวบาเจียง นางมะโรง และท้าวจำปาสัก
เห็นได้ว่าเป็นการเดินตามการจัดการท่องเที่ยวแบบล้มเหลวของเมืองไทย การปรับปรุงการท่องเที่ยวเช่นนี้ ทำให้มีค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางเข้าเที่ยวชมมากขึ้น เช่น ราคาค่าเข้าชม ๓๕,๐๐๐ กีบ หรือราวๆ ๑๔๐ บาท ค่ารถอีกคันละ ๒๐ บาท ค่าผ่านทาง 14A เที่ยวละ ๒๐,๐๐๐ กีบ หรือราวๆ ๘๐ บาทต่อเที่ยวซึ่งสะดวกกว่าการใช้เรือแพข้ามแม่น้ำโขง มีห้องอาหารร้านกาแฟให้พัก มีรถรับส่งขนาดเล็กจนถึงเชิงทางขึ้นปราสาทและเนินเขา ปรับปรุงการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นำโบราณวัตถุสำคัญมาจัดแสดงเพิ่มขึ้น
แต่ที่ผิดพลาดอย่างไม่น่าเป็นไปได้คือ การนำเอาโบราณวัตถุปลอมที่พบได้จากตลาดพระแถวท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ ไปจัดแสดงเสียตู้หนึ่ง
ภูเก้าหรือลึงคบรรพต ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเศรษฐปุระ ซึ่งมีปราสาทวัดพูที่อยู่เชิงเขาเป็นศาสนถานขนาดใหญ่ตามที่แสดงไว้ในภาพแสดงภูมิทัศน์ด้านล่าง
|
ถวิลหาอินโดจีนของฝรั่งเศสในนิทรรศการมรดกโลกที่พิพิธภัณฑ์วัดพู
“อินโดจีนของฝรั่งเศส” [Indochine française] อาณานิคมของจักรวรรดิฝรั่งเศสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๘๗ โดยประกอบด้วยตังเกี๋ย อันนัม โคชินไชนา (ทั้งสามแห่งรวมกันเป็นประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) และกัมพูชา ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๙๓ จึงรวมเอาลาวเข้ามาด้วย อินโดจีนมีไซ่ง่อนหรือโฮจิมินห์เป็นเมืองหลวง จนถึงปี ค.ศ. ๑๙๐๒ จึงย้ายเมืองหลวงมาที่ฮานอย
แผนที่แสดงที่ตั้งมรดกโลก ที่อยู่ในดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศสได้อย่างบังเอิญ
|
เมื่อปรับเปลี่ยนเป็นโบราณสถานในความหมายของมรดกโลก โดยมีการจัดการเพื่อนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ปราสาทวัดพูที่มีความหมายของการเป็น “วัด” ของท้องถิ่นเมืองจำปาสักก็ค่อยๆ ลบเลือนไป ชาวบ้านโดยรอบเคยมาใช้พื้นที่อย่างอิสระ เช่น แม่หญิงลาวชาวบ้านที่เคยขายดอกไม้ธูปเทียนและการขึ้นไปไหว้พระบนวัดพูของชาวลาวทั่วไปกลายเป็นกิจกรรมที่ถูกห้าม ความหมายของวัดพูจึงเปลี่ยนแปลงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวราคาแพงและเป็นพื้นที่ทดลองบูรณะโบราณสถานขององค์กรเครือข่ายประเทศต่างๆ ในองค์การยูเนสโก
ที่น่าเศร้าใจที่สุดคงเป็นเนื้อที่ในอาคารพิพิธภัณฑ์ส่วนหนึ่งมีการจัดแสดงนิทรรศการ ๔๐ ปีแห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และนิทรรศการเรื่องมรดกโลกในภูมิภาคนี้ ดูจากแผนที่แสดงให้เห็นว่าส่วนใหญ่อยู่ในดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของอินโดจีนของฝรั่งเศส และไม่ลืมที่จะลงรายละเอียดบนแผนที่บริเวณพระวิหารที่แม้ยังมีปัญหาในประเด็นการใช้พื้นที่แต่ก็สามารถขึ้นทะเบียนตัวโบราณสถานไปแล้วเพียงฝ่ายเดียว
นิทรรศการนี้เน้นเรื่องราวเกี่ยวกับปราสาทหินในแง่มุมของรายละเอียดในทางประติมานวิทยาและโบราณวัตถุที่พบมากกว่าเรื่องอื่นๆ และที่แน่นอนคือไม่ลืมที่จะใส่การสร้างเนื้อหาเกี่ยวกับราชมรรคาทางการเมืองของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งเมืองพระนคร ทั้งๆ ที่เมืองเศรษฐปุระมีอายุเก่ากว่ารัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ หลายร้อยปีและไม่มีสิ่งใดที่จะแสดงให้เห็นถึงโบราณสถานหรือโบราณวัตถุสำคัญๆ ในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๗ หรือ ๑๘ แต่อย่างใด
เป็นขนบวิธีการศึกษาโบราณสถานแบบฝรั่งเศสที่มอบให้ผ่านกระบวนการเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ที่แฝงไว้ด้วยการอธิบายอดีต เป็นประวัติศาสตร์แบบการเมืองในยุคอาณานิคมซึ่งเป็นสิ่งที่ฝรั่งเศสเคยศึกษา และมอบให้ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและการศึกษาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ให้กับบ้านเมืองในอดีตอาณานิคมของตนเอง สร้างปัญหาในการศึกษาที่มองไม่เห็นท้องถิ่นหรือการมีอยู่ของบ้านเมืองอื่นๆ นอกเสียจากอาณาจักรอันยิ่งใหญ่แห่งเมืองพระนครที่เป็นเจ้าปกครองบ้านเล็กเมืองน้อยต่างๆ ที่มีโบราณสถานแบบปราสาทหินตั้งอยู่ไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม
แต่สำหรับภาพรวมของนิทรรศการที่มีความสำคัญเกือบหนึ่งห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์แห่งปราสาทวัดพู ให้ความสำคัญกับเมืองเศรษฐปุระและปราสาทวัดพูในฐานะเป็นเพียงปริมณฑลของอำนาจอาณาจักรขอมที่เมืองพระนครเท่านั้นเอง
ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๑๐๐ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๖)